ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชเพื่อกำจัดเนื้อหาก่อการร้ายและหัวรุนแรงสุดโต่งทางสื่ออนไลน์ [fr]

สืบเนื่องจากเหตุก่อการร้ายในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งทำให้มีชาวมุสลิมเสียชีวิต 51 ราย และมีการถ่ายทอดสดการก่อเหตุทางอินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ 10 คน ตลอดจนผู้มีบทบาทหลักในวงการดิจิทัลจึงได้ให้คำมั่นในข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ช ว่าจะดำเนินการร่วมกันเพื่อกำจัดเนื้อหาก่อการร้ายและหัวรุนแรงสุดโต่งทางสื่อออนไลน์และยุติการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเพื่อการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้าย

ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชเป็นแผนปฏิบัติการที่กระตุ้นให้รัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และผู้มีบทบาทในวงการอินเตอร์เน็ต ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ

  • พัฒนาเครื่องมือเพื่อป้องกันการนำเนื้อหาก่อการร้ายและหัวรุนแรงสุดโต่งเข้าสู่ระบบ
  • ต่อสู้กับต้นตอของแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่ง
  • ปรับปรุงความโปร่งใสในการตรวจจับและถอดเนื้อหาออกจากระบบ
  • สอดส่องดูแลว่าขั้นตอนวิธีที่บริษัทได้ออกแบบและนำมาใช้ไม่ได้ชี้นำผู้ใช้งานไปสู่เนื้อหาหัวรุนแรงสุดโต่ง ทั้งนี้ เพื่อลดการแพร่กระจายของเนื้อหาดังกล่าว

นายเอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส และนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ และผู้นำบริษัทและองค์กรด้านดิจิทัล ได้มาประชุมกัน ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เพื่อเห็นชอบข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชในการดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งผ่านสื่อออนไลน์

นางจาซินดา กล่าวว่า เราสามารถภูมิใจในสิ่งที่เราได้เริ่มต้นในวันนี้กับการเห็นชอบข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ช เราได้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมแบบเดียวกับที่เมืองไครสต์เชิร์ชเกิดขึ้นอีก การก่อการร้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ได้สร้างความตกตะลึงเนื่องจากมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชทำให้เราได้เห็นชอบวิธีการเดียวกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว

นิวซีแลนด์กับฝรั่งเศสจะนำเสนอข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชต่อประเทศและบริษัทอื่นๆ รวมทั้งจะผลักดันเป้าหมายของข้อเรียกร้องให้มีความก้าวหน้าในวงการระหว่างประเทศ

ข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชได้รับความเห็นชอบจากประเทศฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ แคนาดา ไอร์แลนด์ จอร์แดน นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร เซเนกัล อินโดนีเซีย คณะกรรมาธิการยุโรป รวมทั้งบริษัทแอมะซอน เฟซบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟท์ Qwant ทวิตเตอร์ ยูทูบ และเดลีโมชัน ประเทศอื่นๆ ที่เห็นชอบข้อเรียกร้องแต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน และสวีเดน

สำหรับเนื้อหาข้อเรียกร้องไครสต์เชิร์ชและรายนามผู้สนับสนุนข้อเรียกร้อง สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.christchurchcall.com

ชมการแถลงข่าวของประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 11/08/2020

ด้านบนของหน้า