การรุกรานยูเครนของรัสเซีย : 12 เดือนผ่านมา [fr]
นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้เขียนบทความพิเศษในวาระครบรอบ 1 ปี การรุกรานยูเครนของรัสเซีย บทความฉบับภาษาอังกฤษลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 และบทความฉบับภาษาไทยลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 โดยบทความดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
12 เดือนผ่านมา
ตีแยรี มาตู และ เกออร์ก ชมิดท์
เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
ยังจำกันได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียได้ปฏิเสธเรื่องการวางแผนรุกรานยูเครนเมื่อ 1 ปีก่อนอย่างไร ความจริงได้ปรากฏแล้วว่าเรื่องนี้เป็นการโกหกอันน่าสลดใจ
1. สงครามยูเครนถูกนำเสนอว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษ” เพื่อปกป้องประชากรที่พูดภาษารัสเซีย 12 เดือนผ่านมา กองทัพรัสเซียยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและยังคงก่ออาชญากรรมสงครามต่อผู้คนที่ตนเองอ้างว่าต้องการปกป้อง ฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศจะทำทุกอย่างเพื่อให้รัสเซียรับผิดชอบต่อการกระทำของตนและเพื่อต่อต้านการลอยนวลพ้นผิด
2. สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษ” ที่คิดว่าจะจบอย่างรวดเร็วและมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางทหารเท่านั้น 12 เดือนผ่านมา การรุกรานยูเครนทำให้ผู้คนมากมายต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทหารจำนวนมากของทั้งสองฝ่ายที่เสียชีวิตในพื้นที่แนวหน้าเท่านั้น แต่ยังขยายสู่พลเรือนอีกด้วย เด็กถูกเนรเทศจากดินแดนที่ถูกยึดครองในยูเครน กองทัพรัสเซียยังคงโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานพลเรือนของยูเครน ผลที่ตามมาคือโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องทำการผ่าตัดท่ามกลางระบบไฟฟ้าที่ไม่เสถียร โรงเรียนและบ้านเรือนไม่มีแสงสว่างและระบบทำความร้อน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางฤดูหนาวอันโหดร้ายในยูเครน ชาวยูเครนกว่า 8 ล้านคนต้องแสวงหาที่หลบภัยจากความรุนแรงในต่างแดน มากกว่า 5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น หากเทียบกับขนาดประชากรของไทยแล้ว ก็อาจหมายถึงชาวไทยมากกว่า 21 ล้านคน ที่ต้องหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน เยอรมนีและฝรั่งเศสได้ให้ที่พักอาศัยแก่ชาวยูเครนมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งสองประเทศกำลังเพิ่มความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ยูเครนทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบสหภาพยุโรป หรือ อียู
3. รัสเซียคาดหวังให้กองทัพและการบริหารของยูเครนล่มสลาย 12 เดือนผ่านมา ชาวยูเครนมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นกว่าเดิม และประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากทั่วทั้งยูเครนและทั่วโลก
4. รัสเซียคิดว่าขีดความสามารถทางทหารของตนเพียงพอที่จะทำลายกองทัพยูเครนและทำให้ชาวยูเครนหมดกำลังใจ 12 เดือนผ่านมา การโจมตีกรุงเคียฟได้ถูกโต้กลับ แคว้นคาร์คีฟและเมืองเคอร์สันถูกปลดปล่อย ในขณะที่กองทัพและชาวยูเครนได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการยืนหยัดต้านทานการรุกราน กองทัพรัสเซียกลับอ่อนกำลังลง จนต้องโหมกระหน่ำยิงอย่างไร้ทิศทางและสูญเสียกำลังพลไปจำนวนมากในความพยายามรุกคืบ รัสเซียต้องระดมพลเพิ่มอีกกว่า 300,000 นาย จนถึงขั้นส่งทหารรับจ้างและอาชญากรของกลุ่มแวกเนอร์เพื่อชดเชยความสูญเสียทหารชาวรัสเซียที่ตนกำลังต้องเผชิญ ชายชาวรัสเซียหลายแสนคนหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหลบหนีการระดมพล สิ่งนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่ามุมมองต่อสงครามของพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไร
5. รัสเซียคิดว่าไม่มีใครกล้าที่จะช่วยเหลือยูเครนและข่มขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่เริ่มต้นการรุกราน 12 เดือนผ่านมา ยูเครนยังคงได้รับการสนับสนุนยุทโธปกรณ์ทางทหารจากชาติพันธมิตร ด้วยเหตุผลเรียบง่าย คือ การโจมตียูเครนของรัสเซียถือเป็นการโจมตีความมั่นคงในยุโรปที่ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและข้อบัญญัติองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) หากไม่มีการหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว เราอาจจะเห็นการโจมตีประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น การข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียอย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นท่าทีที่ไร้ความรับผิดชอบ ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะยังคงเน้นย้ำถึงภัยคุกคามนี้ต่อไป
6. รัสเซียเชื่อว่ายุโรปต้องอ่อนแอ 12 เดือนผ่านมา ภายใต้การเป็นประธานหมุนเวียนติดต่อกัน 3 ครั้งของชาติสมาชิก อียูยังคงมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสนับสนุนยูเครน ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้พบหารือเมื่อไม่นานมานี้ที่กรุงปารีสกับประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีช็อลทซ์ของเยอรมนี และได้รับการต้อนรับอย่างดีที่กรุงบรัสเซลส์โดยรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป ทั้งยูเครนและมอลโดวาต่างได้รับสถานะผู้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู อีกทั้งอียูยังสามารถลดการพึ่งพาก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียได้อย่างมาก นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อียูได้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ผ่านโครงการ European Peace Facility (EPF) และกำลังใช้ประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของอำนาจทางตลาดของตนในการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นประเทศที่อยู่แถวหน้าในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของยุโรป
7. รัสเซียอ้างว่ากำลังตอบโต้การคุกคามขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต 12 เดือนผ่านมา การโจมตียูเครนของรัสเซียได้แสดงให้โลกเห็นว่า ทำไมหลายประเทศจึงกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมนาโตหลังปี 2534 นั่นเป็นเพราะกังวลต่อลัทธิจักรวรรดินิยมรัสเซีย สวีเดนและฟินแลนด์ สองประเทศที่มีประเพณียึดถือความเป็นกลางมาอย่างยาวนาน ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งแข็งแกร่งกว่าเดิมหลังการโจมตีของรัสเซีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอื่น ๆ ใกล้ชิดมากกว่าที่เป็นมา ภายใต้กรอบนาโตและภายใต้ความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับประเทศอื่น ๆ เยอรมนีและฝรั่งเศสจะยังคงสนับสนุนให้ยูเครนใช้สิทธิตามกฎหมายในการปกป้องตนเองจากผู้รุกราน
8. รัสเซียอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากส่วนที่เหลือของโลก และตกอยู่ภายใต้การโจมตีของชาติตะวันตก 12 เดือนผ่านมา รัสเซียถูกโดดเดี่ยวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ในเดือนมีนาคม 2565 มติสมัชชาสหประชาชาติที่ ES-11/1 ได้เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน ในเดือนตุลาคม 2565 มติสมัชชาสหประชาชาติที่ ES-11/4 ได้ประณามการผนวกดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ออกเสียงคัดค้านข้อมติดังกล่าวร่วมกับรัสเซีย นอกจากนี้ ฐานการสนับสนุนของยูเครนกำลังขยายเติบโต ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศจากทุกทวีปรวมถึงเอเชียได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่กรุงปารีส โดยประเทศ 47 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 24 องค์กร ได้ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือมูลค่า 1 พันล้านยูโร แก่ยูเครนในช่วงฤดูหนาวนี้
9. รัสเซียอ้างตนเป็นตัวแทนของระเบียบโลกทางเลือก 12 เดือนผ่านมา เรากำลังเห็นผลลัพธ์ของการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติของรัสเซีย นั่นคือ สงครามและการทำลายเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศและของตลาดพลังงานและอาหาร ในขณะที่โลกต้องการการสร้างสมดุล การเชื่อมโยง และการเปิดกว้าง ตามที่ไทยได้เน้นย้ำถึงประเด็นนี้อย่างชาญฉลาดในช่วงที่เป็นประธานเอเปค
10. รัสเซียคิดว่าจะสามารถหลบซ่อนภายใต้ธงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมเพื่อหลีกหนีผลที่ตามมาจากสงครามที่ตนเองก่อขึ้น 12 เดือนผ่านมา ลัทธิจักรวรรดินิยมรัสเซียกลับเห็นได้อย่างชัดแจ้งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และกำลังสร้างความกังวลให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียโดยเฉพาะในเอเชียกลางซึ่งหลายประเทศเคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตมาก่อนและกำลังแสวงหาพันธมิตรที่หลากหลาย รวมทั้งในด้านความมั่นคง
11. รัสเซียคิดว่าจะจำกัดการกระทำอันเป็นการคุกคามไว้แต่เพียงดินแดนที่ตนมองว่าเป็นสนามหลังบ้านของตน 12 เดือนผ่านมา การทำสงครามของรัสเซียได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ต้องจ่ายค่าปุ๋ยแพงขึ้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ด้วยการผลักดันให้มีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เยอรมนีและฝรั่งเศส เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความคิดเหมือนกัน มุ่งหมายที่จะให้รัสเซียขาดแคลนรายได้ที่จะนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางทหาร รวมทั้งมุ่งหมายที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันโดยทั่วไป
12. รัสเซียอ้างว่าการคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อตนเองเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนโดยเฉพาะในแอฟริกา 12 เดือนผ่านมา ความจริงที่ปรากฏคือ การคว่ำบาตรไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและประเทศตะวันตกเป็นผู้ที่ดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากสงครามการรุกรานของรัสเซียที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะในด้านอาหารและพลังงาน ด้วยการสนับสนุนของยุโรป ทำให้ยูเครนยังสามารถส่งออกธัญพืชไปยังแอฟริกาต่อไปได้ ในขณะที่รัสเซียก็ยังคงนำประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารมาใช้ประโยชน์เพื่อขู่กรรโชกทางการเมืองและให้ความร่วมมือเพียงเล็กน้อยในการดำเนินการตามข้อริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชในพื้นที่ทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้เพิ่มเงินบริจาคให้แก่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ทั้งการบริจาคในรูปแบบต่างฝ่ายต่างบริจาคและในรูปแบบทวิภาคี
ผู้คนมากมายต่างตั้งคำถามว่าสงครามจะจบลงอย่างไร ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของยูเครนจะเป็นหัวใจหลักของความพยายามเพื่อสันติภาพ ยิ่งสามารถบรรลุผลสำเร็จได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น การรุกรานจากรัฐขนาดใหญ่ต่อเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าจะต้องไม่สำเร็จ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกประเทศที่ต้องการคงไว้ซึ่งเอกราชและเสรีภาพของตน ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อไปเพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และอำนาจอธิปไตย ในขณะเดียวกัน ช่องทางในการสื่อสารของเรากับรัสเซียก็ยังเปิดกว้างอยู่เสมอเพื่อคงไว้ซึ่งโอกาสทางการทูต