ผลงานศิลปะรอบกำแพงสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย [fr]
จากความคิดริเริ่มของนายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย คณะทำงานขององค์กรอนุรักษ์ไร้พรมแดน (Restaurateurs sans Frontières) นำโดยนายโรแบร์ต บูแกร็ง ร่วมกับคณะวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้รังสรรค์งานศิลปะต้นแบบอันประกอบไปด้วยภาพจิตรกรรมที่จัดแสดงรอบกำแพงด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันรุ่มรวยและหลากหลายระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส
คำอธิบายภาพจัดทำโดยคณะนักเรียนของโรงเรียนฝรั่งเศสนานาชาติ กรุงเทพ
ผลงานศิลปะรอบกำแพงสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยมีดังนี้
โคมไฟถนน
ในอดีตโคมไฟถนนเป็นเพียงตะเกียงน้ำมันที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2287 เพื่อส่องถนนสาธารณะแทนที่โคมไฟแบบเก่าซึ่งใช้เทียนจุด ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการใช้แก๊ส ต่อมามีการใช้ไฟฟ้าอันเป็นนวัตกรรมที่สร้างจุดสิ้นสุดของอาชีพนักโคมไฟซึ่งเป็นหน่วยงานที่ เจ้าชายน้อย ของนักเขียน อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรีรู้สึกประหลาดใจที่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวบนดาวเคราะห์ดวงเล็ก ดังข้อความในหนังสือที่ว่า “มีที่ว่างเพียงพอสำหรับวางเสาตะเกียงและที่จุดตะเกียง แต่เจ้าชายน้อยไม่สามารถอธิบายให้ตัวเองฟังได้ว่า ณ ที่ใดที่หนึ่งบนท้องฟ้า บนดาวเคราะห์ดวงนี้ที่ไม่มีบ้านหรือประชากร เสาตะเกียงและที่จุดตะเกียงจะสามารถใช้ทำอะไรได้“ ส่วนในประเทศไทย รูปปั้นกินรี (จากวัดพระแก้ว)ได้รับเลือกให้อยู่บนโคมไฟถนนในบางพื้นที่
ศิลปะบนผนังถ้ำ : การพบกันของ « ศิลปิน »ไทยและฝรั่งเศสรุ่นแรก
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Mina PRIEUR นักเรียนเกรด 9 ห้อง A)
ในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับในประเทศไทย ภาพวาดบนผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์มักจะเป็นภาพสัตว์ ราวกับเป็นการระลึกถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสังคมกับธรรมชาติที่รายล้อม ภาพวาดและการแกะสลักในถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux) ในเขตดอร์ดอนญ์ (Dordogne) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส มีอายุประมาณ 18,000 ปี ทำให้สถานที่พิเศษแห่งนี้ได้รับสมญานามว่าเป็น "พระราชวังแวร์ซาย แห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์" บนผนังถ้ำแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพของม้า วัวออโรช กระทิง กวาง และ แพะป่า นอกจากนี้ มีภาพสัตว์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก และเป็นสัตว์ที่ดุร้าย เช่น หมี แรด และเสือหรือสิงโต ภาพวาดบนผนังถ้ำในประเทศไทยทำให้เกิดวิวัฒนาการด้วยรูปลักษณ์ของมนุษย์ในอีก 15,000 ปีต่อมา พบภาพวาดบนหน้าผาด้านตะวันตกของเขาปลาร้า ในจังหวัดอุทัยธานี เชื่อกันว่ามีอายุประมาณ 3,000 ปี เป็นการวาดโดยใช้สีจากธรรมชาติเกิดเป็นภาพมนุษย์และสัตว์ต่างๆ อาทิ วัว ลิง หรือสุนัข นอกจากนี้ มีภาพวาดที่พบในถ้ำเขาจันทร์งาม ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโคราช เชื่อกันว่าภาพมนุษย์ที่วาดด้วยสีแดงเหล่านี้ น่าจะเป็นผลงานของกลุ่มชุมชนชาวเกษตรที่มาอาศัยอยู่ในแถบนี้เมื่อ 3,000 หรือ 4,000 ปีก่อน
เสามอร์ริส
สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2411 โดยกาเบรียล มอร์ริส ช่างพิมพ์ที่ชำนาญด้านการประชาสัมพันธ์การแสดง เสามอร์ริสถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์แบบปารีส มีลักษณะสีเขียว ด้านบนคลุมด้วยกันสาดหกเหลี่ยมทรงโดมเพื่อป้องกันโปสเตอร์จากน้ำฝน เงาร่างของโครงสร้างเหล็กทรงกระบอกปรากฏในภาพวาดยุคทอง (Belle Epoque) เสาหลายร้อยต้นถูกสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2411 และ พ.ศ. 2443 โดยเฉพาะบนถนนกรองด์ บูเลอวาร์ด (Grands Boulevards) เพื่อประชาสัมพันธ์การแสดงที่จะจัดขึ้นในเมืองหลวง แบบจำลองเสามอร์ริสบนภาพนี้แสดงถึงโฆษณาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ในปี 2567 และภาพโปสเตอร์ การแสดง ภาพยนตร์ และนิทรรศการ โดยมีนัยยะให้นึกถึงประเทศไทย อาทิ สมาคมฝรั่งเศสประเทศไทย มวยไทย แกลเลอรี่ไนท์ซึ่งจัดที่ประเทศไทยโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส
ตลาดในอดีต : ตลาดบกและตลาดน้ำ
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Elina FONG นักเรียนเกรด 8 ห้อง C)
ตลาดเป็นสถานที่ที่สำคัญต่อชีวิตผู้คนในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับในประเทศไทย นับตั้งแต่ยุคกลาง มีงานจัดแสดงสินค้าสำคัญๆ ตามเมืองต่างๆในภูมิภาค เช่น ที่แคว้นฌองปาญหรือแคว้นบรี มีการจำหน่ายแพรพรรณหลากสี ผ้าปูที่นอน และเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งการค้าปศุสัตว์ซึ่งต้องเก็บไว้นอกกำแพงเมืองหลังจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจัตุรัสใจกลางเมืองจะคึกคักมากวันที่มีตลาด ในประเทศไทยเราเรียก marché ว่า ตลาด ซึ่งขยายไปตามแนวคลอง ตลาดเหล่านี้คือ ตลาดน้ำซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำผลไม้ ดอกไม้ ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงสำเร็จมาขายทางเรือ ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยวจึงแวะชมตลาดน้ำคลองแหทางภาคใต้ของประเทศไทยใกล้หาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นตลาดน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาค
ตามรอยเส้นทางสายไหม
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Chatbhuri CHALERMNON นักเรียนเกรด 12 ห้อง A)
เมื่อเรานึกถึงเส้นทางการเดินทางติดต่อในสมัยโบราณระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เรามักจะนึกถึงเส้นทางสายไหม ในประเทศฝรั่งเศส ผ้าไหมได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนับตั้งแต่การมาถึงจากประเทศจีนเดินทางผ่านประเทศอิตาลีในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ในภาพ เราเห็นโรงงานทอผ้าในเมืองลียง (Lyon) สมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นทายาทของ "โรงงานผ้าไหมลียงแนส Lyonnaise" สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 เมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ทรงมอบสิทธิพิเศษแก่ช่างทอผ้าในเมืองลียงซึ่งเคยมอบให้กับเมืองตูร์มาก่อน เพื่อสามารถต่อสู้กับการแข่งขันของอิตาลี ในเขตที่เรียกว่า ครัวซ์รูส (Croix-Rousse) เป็นเขตที่มีหญิงปั่นด้ายกรอด้ายและช่างทอผ้าชาย ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า คานุต (Canuts) รวมกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชนมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยูในหมู่บ้านทอผ้านี้เลย ครัวซ์รูส (Croix-Rousse) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เนินเขาแห่งการทำงาน" ตรงข้ามกับ "เนินเขาแห่งการสวดมนต์" ที่ชื่อโฟวิแยร์ (Fourvière) ซึ่งมีโบสถ์ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระแม่มาเรีย และวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2413 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในประเทศไทย กษัตริย์เจ้าเมืองน่านได้ทรงตัดสินพระทัย สร้างและบูรณะวัดต่างๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์ เราจึงได้เห็นภาพเขียนฝาผนังของวัดภูมินทร์ในภาพนี้ บนผนังของวัดมีหลายภาพที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ผู้มีถิ่นกำเนิดมาจากมณฑลยูนนาน ในประเทศจีน ผู้หญิงที่ทอผ้าไหมจะสวมซิ่นลายน้ำไหลแบบดั้งเดิม และที่ผนังวัดมีคำอธิบายภาพเขียนเป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดน่าน การค้นพบเส้นใยไหมที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มีอายุ 2500 ปีก่อนคริสตกาล ในจังหวัดอุดรธานีพิสูจน์ให้เห็นว่าการทอผ้าไหมในภูมิภาคนี้มีมาแต่โบราณ ภายหลังจากการเสื่อมโทรมเป็นเวลานาน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของผ้าไหมในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นโดยจิม ทอมป์สันในศตวรรษที่ 20
เมืองการ์กาสซอนน์ที่ได้รับการปกปักจากยักษ์ทวารบาล
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Pho SIRIMANUWAT, นักเรียนเกรด 10 ห้อง C)
เราลองย้อนกลับไปในยุคศตวรรษที่ 14 ณ เมืองการ์กาสซอนน์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงของแคว้นที่ปัจจุบันมีชื่อว่า แคว้นอ็อกซีตานี เมืองนี้มีชื่อเสียงเพราะมีป้อมปราการของยุคกลาง ตัวเมืองมีกำแพงสองชั้นล้อมรอบซึ่งประกอบด้วยหอสังเกตการณ์ห้าสิบสองแห่ง หนึ่งในประตูทางเข้าเมืองการ์กาสซอนน์ มียักษ์ 2 ตน ที่มาจากประเทศไทย และได้ปรากฏตัวในศตวรรษที่ 14 เป็นผู้เฝ้าประตูเมือง ยักษ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีใบหน้าที่มีลักษณะเฉพาะ คือมีตากลมโปนและมีเขี้ยวยื่นออกมา มีผิวสีเขียวหรือสีม่วง เราเรียกว่า ยักษา ผู้พิทักษ์สองตนที่เห็นในรูปภาพนี้ได้รับเลือกให้ปกป้องวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
ม้านั่งสาธารณะ
เป็นการยากที่จะนึกถึงม้านั่งสาธารณะโดยไม่นึกถึงเนื้อร้องของเพลงที่มีชื่อเสียงของฌอร์ฌ บราซ็องส์ ชื่อว่า "คนรักม้านั่งสาธารณะ" แต่งและเรียบเรียงในปี พ.ศ. 2496 มีเนื้อร้องว่า “คู่รักที่จุมพิตบนม้านั่งสาธารณะ / ม้านั่งสาธารณะ ม้านั่งสาธารณะ / ไม่สนใจการจ้องมองของผู้คนที่เดินผ่านไปมา (…) พร้อมพูดว่า "ฉันรักคุณ" ให้แก่กันอย่างน่าสงสาร / พวกเขาช่างมีใบหน้าที่น่ารัก" ช่างภาพโรแบร์ต ดัวส์โน ได้ทำให้ม้านั่งสาธารณะกลายเป็นมุมอมตะในหลายช็อต โดยแสดงให้เห็นภาพคู่รักที่โอบกอด รวมทั้งภาพเด็กและคนชรา นับตั้งแต่ยุคกลาง ช่วงระหว่างจักรวรรดิที่สอง บารง โอสมานน์ได้วางม้านั่งตามแนวต้นไม้ริมทางเท้าบนพื้นที่ขนาดใหญ่ในกรุงปารีส บนภาพนี้ ตัวละครสวมชุดโขนและผู้หญิงชาวฝรั่งเศสจะพูดคุยสนทนาถึงเรื่องอะไรกันนะ ขณะนั่งมองกำแพงของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส?
เทศกาลลอยโคมที่มงต์ แซงต์-มิแชล
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Mélissa DUPONT, นักเรียนเกรด 8 ห้อง A)
เกาะหินซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งนี้เรียกกันว่า มงแซ็งมีแชล(Mont Saint-Michel) ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อหัวหน้าเทวทูตที่คอยปกปักดูแลผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้ในยุคกลาง เนื่องจากสถานที่พิเศษแห่งนี้มีอ่าวกว้างซึ่งรูปร่างจะเปลี่ยนไปตามกระแสน้ำมงแซ็งมีแชล(Mont Saint-Michel) จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดของฝรั่งเศส ในประเทศไทย เราเห็นแสงสะท้อนในน้ำยามพลบค่ำจากการประดับไฟบนท้องฟ้าเหนือเมืองเชียงใหม่ช่วงเทศกาลลอยโคมหรือ ยี่เป็ง เทศกาลนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลองในวันเพ็ญเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมล้านนา ผู้คนสามารถชื่นชมโคมไฟนับพันดวงที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้ายามราตรี พระสงฆ์บางส่วนก็ร่วมลอยยี่เป็งเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณด้วยเช่นกัน โคมสวรรค์หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า โคมลอย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โคมสะเดาะเคราะห์หรือโคมประทีป โคมนั้นก็คือ บอลลูนที่ทำจากกระดาษแก้วแล้ววางเทียนไว้ด้านใน การลอยโคมเป็นการสะเดาะเคราะห์และรำลึกถึงบรรพบุรุษที่อยู่บนสวรรค์
ภาพโมเสกของจิตรกรชั้นครู
ผลงานศิลปะบางชิ้นเป็นอมตะ ทว่าปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ต่างก็ทำเครื่องหมายแสดงยุคของพวกเขา ในภาพได้มีการตัดต่อภาพวาดของปรมาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่จากศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 20 โดยนำมาตัดแต่งและผสมผสานเข้าด้วยกัน บางภาพมีอายุห่างกันหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับเหล่าผู้เล่นไพ่โป๊กเกอร์บนภาพ เหล่าวีรบุรุษปะปนอยู่ในสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่น่าเคารพนับถือก็อยู่รวมกับสิ่งสามัญ หนุมาน ตัวละครของวัฒนธรรมไทยก็เดินหลงอยู่ท่ามกลางภาพโมเสกในสไตล์อาร์ตเดคโค คุณหาเขาพบหรือไม่?
เดินเล่นตามสไตล์ไทย-ฝรั่งเศสริมฝั่งแม่น้ำแซน
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Kita KLONGWATHANAKITH นักเรียนเกรด 12 ห้อง B)
แผงขายหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์กรุงปารีส และเป็นร่องรอยสุดท้ายของการค้าขายตามท้องถนน รวมถึงอาหารข้างทางที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างสีสันให้กับท้องถนนในเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส แต่ในกรุงเทพฯนั้นสิ่งเหล่านี้ยังคงเฟื่องฟูอยู่ เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในประเทศไทย แผงขายหนังสือเหล่านี้จะรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแซน จากสะพาน Marie ไปจนถึง Quai du Louvre และฝั่งซ้ายจาก Quai de la Tournelle ไปจนถึง Quai Voltaire ใกล้กับมหาวิหารนอร์ทเทอร์ดามแห่งปารีส มีผู้ขายหนังสือมากกว่า 200 ราย โดยแต่ละร้านมีขนาดกว้าง 8 เมตรและเปิดโล่งกลางแจ้งอย่างแท้จริง แผงหนังสือหรือที่เรียกกันว่า "boîtes à livres" กว่า 900 ร้าน รวบรวมหนังสือเก่าและหนังสือมือสองเกือบ 300,000 เล่ม ยังไม่นับรวมนิตยสาร แสตมป์ และการ์ดสะสมอีกจำนวนมาก แต่โปรดระวัง ! มีแค่เพียงแผงเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ขายของที่ระลึกเกี่ยวกับปารีส เครื่องประดับตกแต่งเล็ก ๆ และอุปกรณ์แก็ดเจ็ตต่างๆ การมีอยู่ของแผงหนังสือเหล่านี้มีส่วนทำให้ริมฝั่งแม่น้ำแซนมีเสน่ห์และช่วยสร้างความมีชีวิตชีวา สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมไปถึงมรดกทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กล่องบรรจุหนังสือ "สีเขียวตู้บรรทุกสินค้า" หรือที่เรียกกันว่า "vert wagon" ได้รับการควบคุมให้กลมกลืนกับสีของรถไฟใต้ดิน น้ำพุวอลเลซและเสามอร์ริส หากแผงขายหนังสือในปารีสได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเมืองหลวงอื่นๆเช่น ออตตาวา ปักกิ่ง หรือโตเกียว แต่ไม่ใช่กับกรุงเทพมหานคร ทว่าความสนใจที่มีต่อถนนในประเทศไทย นั่นคือ แผงขายปลาหมึกแห้ง เริ่มจากการบดปลาหมึกด้วยมือหลายๆครั้งเพื่อทำให้นุ่ม ปลาหมึกบางราวกับกระดาษ หั่นปลาหมึกเป็นชิ้นแล้วย่างบนเตาถ่านเล็กๆและเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสจัด และนี่คืออาหารข้างทางทั่วไป เป็นอาหารว่างที่ทานเพลินขณะเดินไปตามท้องถนน
การผสมผสานทางสถาปัตยกรรมในลุ่มแม่น้ำลัวร์
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Nicolas IORDACHE นักเรียนเกรด 12 ห้อง A)
ปราสาทที่ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำลัวร์ ส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ สร้างขึ้นหรือมีการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ราชสำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสเริ่มก่อตั้งขึ้นในภูมิภาคหรือบริเวณโดยรอบ
เราจะสังเกตเห็นว่า ปราสาททั้งหมดมีสีอ่อน เนื่องมาจากการใช้หินปูนในการก่อสร้าง ทำให้ตัวปราสาททั้งหมดดูสว่างและตัดกับสีทึบของหลังคาที่ทำมาจากหินชนวน
ปราสาท Château d’Ussé เป็นแรงบันดาลใจให้ ชารลส์ แปร์โรต์ (Charles Perrault) เขียนนิทานเรื่องเจ้าหญิงนิทรา ปราสาท Château de Chambord มีความเกี่ยวข้องกับรัชสมัยของ พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 เนื่องจากเป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาปราสาทกว่า 3,000 แห่งริมแม่น้ำลัวร์ ปราสาท Château de Chenonceau มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ปราสาทสุภาพสตรี" เพราะสร้างและได้รับการบูรณะโดยสุภาพสตรีหลายท่านในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีส่วนส่งเสริมทะนุบำรุงและอนุรักษ์ปราสาทแห่งนี้ สุดท้าย จากปราสาท Château de Nozet สามารถมองเห็นไร่องุ่นที่ผลิตไวน์โดยใช้องุ่นขาวที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
ความสว่างของปราสาทเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงวัดร่องขุ่น ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดสีขาว สร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชื่อดัง สีขาวของวัดนี้ แสดงถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา ตัวโบสถ์และงานประติมากรรมต่างๆ ล้วนฝังด้วยกระจกที่สะท้อนแสงระยิบระยับ เพื่อสื่อความหมายถึงการนำพาพุทธศาสนิกชนไปสู่นิพพาน วัดแห่งนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ และมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนวัดอื่นที่สร้างตามธรรมเนียมดั้งเดิม โดยวัดนี้สร้างและตกแต่งเป็นแบบศิลปะร่วมสมัย
ประเทศฝรั่งเศส พื้นถิ่นดินแดนแห่งอาหารการกิน
เมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน เดินทางมาเทียบท่าเรือขึ้นบกที่เมืองแบรสต์ ได้เดินทางข้ามฟากตะวันตกของประเทศฝรั่งเศสเพื่อไปยังพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งเป็นโอกาสที่ได้พบกับทัศนียภาพบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยและความหลากหลายของดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวง เช่นเดียวกับในประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายทางธรรมชาติและของเขตแดนซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดในโลก ประเทศฝรั่งเศสมีภูมิประเทศทางธรรมชาติขนาดใหญ่หลายแห่งแถบชายทะเล ตั้งแต่ฝั่งทะเลเหนือไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก หากพูดถึงวิวทิวเขาที่ฝรั่งเศสก็งดงามไม่แพ้กัน เพราะมียอดเขาถึง 24 แห่งในเทือกเขาแอลป์ ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร ในขณะที่เทือกเขาพีเรนีส มียอดเขาสูงกว่า 3,000 เมตร ที่ราบสูงตอนกลางชื่อว่า มัสซิฟ ซองตรัล ครอบคลุมภูเขาไฟไม่น้อยกว่า 80 แห่งในแคว้นโอแวร์ญ เป็นเรื่องดีที่ภูเขาไฟนี้ยังคงหลับใหล! ป่าไม้ในประเทศฝรั่งเศสเป็นแหล่งรวมพืชพรรณและสัตว์นานาชนิด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของยุโรป ภูมิทัศน์ชนบทและมุมเกษตรกรรมยังคงหาดูได้ในแถบภูมิประเทศของป่าไม้และทุ่งหญ้าแบบผสมผสาน (Norman bocage) หรือไร่องุ่น ซึ่งพบได้ในหลายภูมิภาค และทุ่งลาเวนเดอร์ที่โพรวองซ์ซึ่งจะมีเฉพาะในฝรั่งเศสเท่านั้น หากกล่าวถึงมรดกของเมืองและทางวัฒนธรรม ในภาพนี้มีตัวอย่างจุดเด่นของเมือง อาทิ สวนแบบฝรั่งเศสและหมู่บ้านชนบทซึ่งก็มีความโดเด่นไม่แพ้กัน ต้นกำเนิดของศาสตร์การทำอาหารฝรั่งเศสมักอยู่คู่กับภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นอาหารจานพิเศษบางอย่างจึงปรากฏบนแผนที่ประเทศฝรั่งเศส คุณรู้จักอาหารเหล่านี้บ้างหรือไม่?
ป้ายสถานีรถไฟฟ้า
รถไฟใต้ดินสายแรกระหว่างสถานี ปอร์ต-เดอ-แวงแซ็นส์ (Porte-de-Vincennes) – ปอร์ต มัยโย (Porte Maillot)เปิดให้บริการแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 โดยให้บริการสำหรับกิจกรรมโอลิมปิกฤดูร้อนปี พ.ศ. 2443 ที่ บัวส์ เดอ แวงแซ็นส์ (Bois de Vincennes) สถาปัตยกรรมที่มีหลังคาคลุมเปิดโล่งด้านข้างที่อยู่บนทางเดินสาธารณะ คือป้ายทางเข้ารถไฟใต้ดินที่ได้รับการออกแบบโดย Hector Guimard สถาปนิกชั้นแนวหน้าของวงการศิลปะแบบอาร์ตนูโวในขณะนั้น โครงเหล็กหล่อเหล่านี้โดดเด่นจากการตกแต่งด้วยแผ่นกระจกเป็นลายพืชพรรณ ตั้งแต่นั้นมาสถาปัตยกรรมนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ป้ายสถานีรถไฟใต้ดินอีกหลายแห่ง รวมถึงโครงรูปนกฮูก ผลงานทัศนศิลป์ของ Jean-Michel Othoniel ที่สร้างจากอะลูมิเนียมทรงกลมและแก้วมูราโน่ ผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ที่ Place Colette ตรงข้ามโรงละคร Comédie Française ที่สถานี Palais Royal-Musée du Louvre สำหรับประเทศไทย ป้ายทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดินก็มีการออกแบบเฉพาะที่จดจำได้ง่าย
ห้องกระจกแห่งพระราชวังแวร์ซายส์ : ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ทางการทูตไทย-ฝรั่งเศส
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Kita KLONGWATHANAKITH, นักเรียนเกรด 12 ห้อง B)
ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์แห่งราชสำนัก “กษัตริย์สุริยเทพ” สมบัติทุกชิ้นล้วนแต่ดูงดงามตระการตา แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2429 การมาเยือนพระราชวังของคณะราชทูตสยามได้เพิ่มเสน่ห์ให้พระราชวังอีกหลายเท่าตัว โดยคณะทูตได้อันเชิญพระราชสาสน์สีทองของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้น มณฑป และนำไปตั้งที่ปลายพระราชบัลลังก์ เพื่อถวายแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้สามารถประเมินได้จากรายการเครื่องราชบรรณาการที่สยามนำมาถวายแก่ฝรั่งเศส อาทิเช่น เครื่องสังคโลก เครื่องหยก เครื่องเคลือบ ผ้าไหม เป็นต้น ซึ่งสร้างความประทับพระราชหฤทัยแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างมาก การถวายบังคมต่อหน้าพระพักตร์แทนการทักทายแบบตะวันตก สร้างความประหลาดใจให้เหล่าขุนนางนับ 1,500 คนที่เข้าร่วมพิธี ผ้าทอมือลายสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินสลับขาวได้กลายเป็นที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่ขุนนางฝรั่งเศส ทางด้าน “กษัตริย์สุริยเทพ” แห่งฝรั่งเศส ทรงสร้างความประทับใจโดยการเสด็จออกรับคณะราชทูต ณ ห้องกระจกแห่งพระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ห้องโถงนี้มีความยาว 73 เมตร ประกอบด้วยซุ้มประตู 17 ซุ้ม โดยแต่ละซุ้มประดับกระจกเงา 21 บาน รวมทั้งสิ้น 357 บาน กระจกเงาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการขยายพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมอบหมายให้เหล่าขุนนางสั่งกระจกหลายพันบานเพื่อนำมาประดับพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา และลพบุรี และบางส่วนใช้ประดับผนังพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท จังหวัดลพบุรี ก่อนย้ายไปยังเจดีย์หลักที่วัดพระพุทธบาท
จากแวร์ซายส์ถึงกรุงเทพฯ : พระราชวังในจินตนาการ
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Jintrakarn KOSHPASHARIN, นักเรียนเกรด 12 ห้อง B)
ประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สามารถนำมารวมเข้าด้วยกันได้ ดังที่ปรากฏในภาพเขียน พระบรมมหาราชวัง (ด้านซ้าย) รวมกับพระราชวังแวร์ซายส์ ในส่วนที่สร้างในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (ด้านขวา) เมื่อนำทั้งสองภาพมารวมเป็นอาคารเดียวกัน จะเห็นว่าพระราชวังทั้งสองไม่ได้สร้างขึ้นตามหลักสถาปัตยกรรมเดียวกันแต่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน พระราชวังแวร์ซายส์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับในช่วงล่าสัตว์ของกษัตริย์ฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงมีรับสั่งให้สร้างศาลารูปตัวยูที่ทำจากอิฐและหิน ซึ่งปัจจุบันล้อมรอบด้วยลานหินอ่อน ส่วนพระราชวังเก่าของกรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 และสำหรับพระบรมมหาราชวังที่ปรากฏในภาพวาด ซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 นั้น ได้ผ่านการบูรณะมาอย่างนับไม่ถ้วนตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ลายจิตรกรรมฝาผนังในท้องพระโรง เป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับนานาชาติที่มีมาช้านาน ดังภาพวาดที่ปรากฏบนผนังด้านทิศตะวันออกที่ชื่อ "พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้การต้อนรับคณะราชทูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ณ ท้องพระโรงห้องกระจกแห่งพระราชวังแวร์ซายส์"
กรอบที่ล้อมรอบภาพเขียนนี้แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ของคณะราชทูตสยามที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองแบรสต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 การเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับชาวเมืองแบรสต์ จนมีการเปลี่ยนชื่อถนนสายหลักว่า "รู เดอ สยาม" หรือ "ถนนแห่งสยาม" ซึ่งเป็นถนนที่ในปัจจุบันมีรูปปั้นเจ้าพระยาโกษา ปาน ตั้งตระหง่านอยู่ สร้างโดย คุณวัชระ ประยูรคำ ประติมากรชื่อดัง และบริจาคให้เมืองแบรสต์ในปี พ.ศ. 2563 โดยมอบผ่านทางสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับคุณที่กำลังชมภาพนี้อยู่ อย่าลืมว่าทางเข้าตัวอาคารฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ในซอย เจริญกรุง 36 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "รู เดอ แบรสต์" หรือ "ถนนแห่งเมืองแบรสต์" แล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2565
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Erika BOSREDON นักเรียนเกรด 10 ห้อง B)
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทูตชุดแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในคราวแรกเป็นสถานกงสุล ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อาคารโรงภาษีเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อตั้งสถานกงสุลเป็นการชั่วคราว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ตัวอาคารพร้อมกับที่ดินให้แก่ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร อาคารที่ปัจจุบันได้กลายเป็นทำเนียบทูตฝรั่งเศส ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง: มีการต่อเติมระเบียงและเฉลียงเพิ่มเติม ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้มีการตั้งคำถามถึงการย้ายที่ทำการสถานทูต โดยการขายที่ดินแล้วย้ายออกไปตั้งที่ใหม่ทางตะวันออกเหมือนกับสถานทูตหลายแห่งในสมัยนั้น ตรงบริเวณสาทรและวิทยุ หรือแม้กระทั่งที่ดินผืนใหญ่แถวเพลินจิตที่ฝรั่งเศสได้ครอบครอง หรือจะรื้อถอนอาคารเก่าหลังนี้แล้วสร้างใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ดังที่นักเขียนปอล โมร็องด์ (Paul Morand) ได้เขียนไว้ว่ามีอัครราชทูตหลายท่านคัดค้านแนวคิดการย้ายนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 อัครราชทูต ชาร์ลส์ อาร์แซ็น อ็องรี (Charles Arsène Henry) และชุมชนชาวฝรั่งเศสในขณะนั้นได้จัดทำประชามติกันขึ้น เพื่อตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับการย้ายครั้งนี้ ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธไม่ให้ย้ายจากชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยที่มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารซึ่งไม่ได้รับการบำรุงรักษามาหลายปี อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนต้องจัดให้มีการซ่อมแซมฟื้นฟูในปี พ.ศ. 2490 และต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2492 สถานกงสุลแห่งนี้ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต การปรับปรุงสถานทูตครั้งล่าสุดมีเมื่อขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2545 ภาพวาดที่แสดงบนประตูทางเข้าหลักของทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในปัจจุบัน แสดงให้เห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการการบำรุงรักษาสวน สถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้แตกต่างกับอาคารใหม่ด้านหน้า ที่เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส โดยสร้างเสร็จในปี 2558 ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกปีในเดือนกันยายนเนื่องในวันมรดกยุโรป
การลงนามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส
(เรียบเรียงข้อมูลโดย Jintrakarn KOSHPASHARIN นักเรียนเกรด 10 ห้อง B)
ปฏิทินภาพพิมพ์ประจำปี พ.ศ. 2230 ที่ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของปีก่อนหน้า ถึงการสานสัมพันธไมตรีระหว่างฝรั่งเศสและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทย ภายหลังการเริ่มต้นเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อปี พ.ศ. 2216 ในภาพกษัตริย์ "สุริยเทพ" หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยื่นพระหัตถ์ไปรับสาสน์จากเจ้าพระยาโกษา ปาน เอกอัครราชทูตแห่งกรุงสยาม ในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ ประเทศฝรั่งเศสต้องการขยายอิทธิพลมาทางแถบทวีปเอเชีย ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังมองหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งในทวีปยุโรป บุคลิกและการแต่งกายของเจ้าพระยาโกษา ปาน ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ท่านสวมหมวกทรงแหลมที่เรียกว่า "ลอมพอก" ซึ่งเป็นหมวกที่ทำมาจากไม่ไผ่ มีผ้าสีขาวพันรอบ ตกแต่งด้วยเงินและดอกไม้สีทองมีอัญมณีประดับอยู่ตรงกลาง การเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศฝรั่งเศสและสยาม ประกอบกับการเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสของคณะราชทูตไทยในครั้งต่อมา ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ดินแดนโพ้นทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพ
ฝรั่งเศสมีพื้นที่ทางทะเลใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประกอบด้วย 2 ส่วน คือแผ่นดินใหญ่และดินแดนโพ้นทะเล ซึ่งมีอยู่ทุกมหาสมุทรยกเว้นบริเวณแถบอาร์กติก และมีความมั่งคั่งเช่นเดียวกับประเทศไทยในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่ฝรั่งเศสพยายามปกป้อง โดย 10% ของสายพันธุ์หายากมีอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
บนฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่มีนกหลากหลายชนิด เช่น นกกระเต็น หรือ ไก่ฟ้า ผีเสื้อหลากหลายสายพันธ์ เช่น พันธุ์อเล็กซานอร์ หรือแม่กระทั่งพันธุ์พืช เช่น คอร์นฟลาวเวอร์ ซึ่งเป็นดอกไม้ขึ้นตามท้องทุ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำและความสามัคคี แต่ยังรวมถึงดอกราชพฤกษ์ ซึ่งพบได้ในทางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่นำมาใช้ในการทำน้ำหอม และเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศไทยอีกด้วย ในทางกลับกันคุณต้องรู้สึกโชคดีมากที่ได้เห็นแพะป่าบนเทือกเขาแอลป์ หมาป่าสีเทา หมีสีน้ำตาล หรือลิงซ์สเปน (แมวป่าชนิดหนึ่ง) ส่วนด้านซ้ายของภาพแสดงความหลากหลายทางชีวภาพของดินแดนโพ้นทะเลในแถบอเมริกาและแคริบเบียน นกเช่น นกเค้าแมวหิมะ เพนกวินจักรพรรดิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น คิงคาจู สัตว์เลื้อยคลานเช่นอีกัวน่า สัตว์ทะเลเช่น แมงกะพรุนหรือฉลามวาฬ ส่วนตรงกลางและด้านขวาของภาพแสดงความหลากหลายทางชีวภาพของดินแดนทางใต้และแอนตาร์กติกของฝรั่งเศสและดินแดนของมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และโอเชียเนีย มี « จุดเสี่ยง » ของความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลายแห่ง ภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ เช่น แนวปะการัง เป็นต้น ทั้งนี้หากจำนวนประชากรวาฬหลังค่อมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากได้รับการคุ้มครองห้ามล่าในการประมงเชิงพาณิชย์ สายพันธุ์สัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น เต่าทะเลที่พบในประเทศไทยและในดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสกำลังตกเป็นเหยื่อของมลพิษ การรุกล้ำ และการติดร่างแหโดยบังเอิญจากอุปกรณ์ตกปลา
ในภาพมีสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยแอบซ่อนอยู่: คุณอาจจะสังเกตเห็นช้างเอเชียและเสือ แต่คุณสังเกตเห็นนกเงือกและปลากัดได้หรือไม่ ?
ประเทศฝรั่งเศสบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
(เขียนโดย Erika BOSREDON – นักเรียนเกรด 10 ห้อง B)
เจ้าพระยา คือตำแหน่งบรรดาศักดิ์ของขุนนางที่สูงที่สุดในประเทศไทย และเจ้าพระยา ก็ยังเป็นชื่อของแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมและการค้าที่สำคัญของประเทศ ในภาพเราจึงเห็นเรือกำปั่นของชาวฝรั่งเศสลำหนึ่งกำลังแล่นอยู่บนแม่น้ำ
มีการสร้างอาคารที่มีลักษณะแบบยุโรปเป็นจำนวนมากบริเวณริมฝั่งของแม่น้ำสายนี้ โดยเฉพาะในเขตบางรัก ผู้แทนทางการทูตจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทูตชุดแรกๆ ได้มาตั้งสถานกงสุลในปี พ.ศ. 2400 หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือและการค้าระหว่างฝรั่งเศสและไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นักการทูตฝรั่งเศสได้อาศัยในที่ดินแปลงหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2400 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้แก่คณะทูตฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2418
ได้มีการปรับปรุงตัวอาคารทำเนียบทูตหลายครั้ง มีการเพิ่มเติมส่วนที่เป็นซุ้มทางเข้าและเฉลียง สถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ มีลักษณะการออกแบบที่แตกต่างไปจากอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสถานทูตซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2558
ทำเนียบทูตฝรั่งเศส จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกปี ในวันแห่งการอนุรักษ์มรดกของยุโรป ในช่วงเดือนกันยายน
จากวัดอรุณถึงหอไอเฟล
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดยนาย Chatbhuri CHALERMNON นักเรียนเกรด 12 ห้อง A)
เมื่อเราพูดถึงสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส เรามักจะนึกถึงหอไอเฟล หอคอยโครงสร้างเหล็กชิ้นนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานแสดงสินค้าโลกในปี พ.ศ. 2432 โดยในทีแรกไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้จะตั้งอยู่ยาวนานข้ามศตวรรษ เมื่อกล่าวถึงสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ คนส่วนมากก็มักจะนึกถึงวัดอรุณ หรือวัดแจ้ง จากภาพนี้จะเห็นว่าสิ่งก่อสร้างทั้งสองสิ่งนี้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกันหน้าลานน้ำพุทรอกาเดโร น้ำในสระเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงเงาประติมากรรมที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ และกรุงปารีส ภาพดังกล่าวให้ความรู้สึกราวกับว่าเวลาได้หยุดหมุนลงและผลงานทั้งสองชิ้นนี้จะหยัดยืนเป็นสัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศไปชั่วนิรันดร์ ทางด้านขวามือมีรูปปั้นกินรีจากวัดพระแก้วซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งวงการนาฏกรรมไทย ความงดงามและความสำเร็จ นอกจากนี้ รูปปั้นกินรีขนาดเล็กยังได้รับการนำมาประดับเป็นถ้วยรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพอีกด้วย ส่วนทางด้านซ้ายมือนั้น เราสามารถชื่นชมความงามของประติมากรรมอันเป็นตัวแทนของความลุ่มลึกในห้วงอารมณ์และเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้น"คนครุ่นคิด" (Penseur) ของโรแด็ง แสดงให้เห็นถึงภาพของชายผู้กำลังใคร่ครวญ ส่วนรูปปั้น”เทวดายิ้ม” (L’Ange au sourire) ซึ่งเป็นรูปปั้นที่ตั้งอยู่หน้ามหาวิหารแร็งส์ ประเทศฝรั่งเศส นั้น เผยให้เห็นถึงความดีอันสูงส่งภายใต้รอยยิ้มที่อบอุ่น และรูปปั้น”หญิงวิงวอน” (L’Implorante) ของศิลปินชื่อกามีย์ กลอแดล นั้นก็สื่อถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความรักอันแรงกล้า
กองทัพสยาม ณ ประตูชัยฝรั่งเศส
ประตูชัยเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่เป็นสัญลักษณ์ของปารีส แม้ว่าประตูชัยนี้จะไม่ใช่อนุสรณ์สถานแห่งเดียวที่ชาวโรมันประดิษฐ์ขึ้นและมีการสร้างประตูชัยขึ้นในหลายเมืองในยุโรป มุงมองในที่นี้มีความสำคัญ การเดินสวนสนามในวันที่ 14 กรกฎาคม ที่เริ่มจากประตูชัยและไปสิ้นสุดที่จัตุรัสคองคอร์ด นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการแสดงความสามัคคีและแสดงแสนยานุภาพของประเทศฝรั่งเศสและความให้เกียรติต่อชาติพันธมิตรที่จัดขึ้นทุกปี ภาพวาดนี้มองย้อนกลับไปในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เริ่มแรกสยามแสดงตัวเป็นกลาง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2460 สยามได้เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และในช่วงปลายฤดูร้อนปี พ.ศ. 2561 กษัตริย์แห่งสยามได้ตัดสินใจส่งทหาร 1,300 นายออกไปสู้รบในยุโรปซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สยามเป็นประเทศคู่สงครามเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ กองทหารสยามจึงมีโอกาสสวนสนามใต้ประตูชัยในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ในภาพวาดนี้ ได้มีการเพิ่มองค์ประกอบร่วมสมัยบางอย่างลงไป เช่น ปาทรุย เดอ ฟร็องซ์ (Patrouille de France - กายกรรมทางอากาศโดยการใช้เครื่องบินรบปล่อยไอพ่นเป็นสีธงชาติฝรั่งเศส) และผลงานศิลปะหมุนเวียนของ 2 ศิลปินคู่สามีภรรยา Christo และ Jeanne-Claude ที่ให้ทีมงานได้ห่อหุ้มประตูชัยเมื่อปี 2564
จากเอเทรอตาต์ (Etretat) ถึงพังงา : จินตภาพบนชายฝั่ง
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดยนาย Pho SIRIMANUWAT นักเรียนเกรด 10 ห้อง C)
นี่คือทัศนียภาพชายฝั่งทะเลที่ทุกคนคุ้นเคยในมุมมองอันแตกต่าง มีการรวมภาพภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลกันคนละทวีปทว่ามีสิ่งคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะในแง่มุมอันเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่รู้จักสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สร้างภาพยนตร์ ภาพแรกพาเราเดินทางไปยังเมืองเอเทรอตาต์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณช่องแคบอังกฤษทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส บนชายฝั่งอัลบาตร์ (Albâtre) ผู้คนรู้จักหน้าผาและหาดกรวดสีเทาอันเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่รู้จักหน้าผารูปซุ้มโค้งสีขาวขนาดใหญ่ทั้งสามแห่งในบริเวณนี้ ปอร์ต ดาวาล (Porte d’Aval) คือหน้าผาที่ปรากฏให้เห็นในภาพ เป็นฉากหนึ่งของนิยายเรื่องอาร์แซน ลูแป็ง (Arsène Lupin) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุภาพบุรุษนักย่องเบาอันเป็นผลงานของนักเขียนชื่อโมริส เลอบลองก์ (Maurice Leblanc) และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์อันโด่งดังซึ่งนำแสดงโดยโอมาร์ ซี (Omar Sy) ภาพที่สองพาเราเดินทางต่อไปยังชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย บริเวณอ่าวพังงา ฝั่งทะเลอันดามัน เขาพิงกันเป็นภูเขาสองลูกที่แนบยึดติดกันบนเกาะและมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ (James Bond) อีกเกาะหนึ่งที่เห็นซึ่งมีรูปร่างคล้ายตะปูนั้นมีชื่อว่าเกาะตะปู ทุกวันนี้เราสามารถนั่งเรือเดินทางไปใกล้ๆ เกาะเจมส์บอนด์ได้ แต่มิอาจเข้าใกล้เกาะตะปู ทั้งนี้เพื่อชะลอการสึกกร่อนของหินปูนอันมีสาเหตุจากคลื่นที่เกิดขึ้นขณะเทียบเรือ ภาพที่สามพาเราไปยังทะเลกระบี่และเกาะที่เต็มไปด้วยภูเขาหินปูน ในบริเวณนี้มีเกาะปอดะนอกซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะมีรูปร่างเหมือนไก่ จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะไก่
สะพานข้ามประวัติศาสตร์
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดย Andy MONTIAS นักเรียนเกรด 8 ห้อง A)
ชาวฝรั่งเศสทุกคนต่างก็รู้จักเพลงสำหรับเด็กที่มีชื่อว่า "ใต้สะพานเมืองอาวิญง” (Sur le pont d’Avignon) สะพานปง ดู การ์ด (Pont du Gard) ซึ่งเป็นสะพานส่งน้ำที่สูงที่สุดในยุคโรมัน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองอาวิญงราว 25 กิโลเมตร ส่วนสะพานปง เดอ ต็องการ์วิลล์ (Pont de Tancarville) นั้นเป็นสะพานแขวนข้ามปากแม่น้ำแซน และเป็นแรงบันดาลใจให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระรามแปดขึ้น ซึ่งสะพานดังกล่าวนับเป็นสะพานขึงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ความโดดเด่นของสะพานแห่งนี้คือการเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรโดยมีเสาสะพานหลักรูปตัววาย (Y) กลับด้านเพียงเสาเดียวบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนสะพานวิอาดุก เดอ มิลโล (Viaduc de Millau) ในฝรั่งเศสซึ่งเริ่มเปิดใช้สองปีหลังจากสะพานพระรามแปด หรือในปี พ.ศ. 2547 นั้นนับเป็นสะพานแขวนเคเบิลที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงมากกว่าหอไอเฟลเสียด้วยซ้ำ สะพานเหล่านี้เป็นสิ่งเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีซึ่งถ่ายทอดมาเป็นผลงานชิ้นเอกของงานสาขาวิศวกรรมโยธา
คณะนักแสดงโขนกับงานศิลปะของบูแรน
(เรียบเรียงโดยนางสาว Hana SHODLADD นักเรียนเกรด 12 ห้อง C)
ปาเลส์ รัวยาล (Palais Royal) เป็นพระราชวังซึ่งถูกสร้างขึ้นใจกลางกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2171 โดยพระคาร์ดินัล ริเชอลิเยอ (Richelieu) สถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงลานกว้างด้านหน้าพระราชวัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองและเป็นพื้นที่ให้เหล่าศิลปินได้แสดงความสามารถ ในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการต่อเติมเสาหินบริเวณด้านหน้าลานกว้างแห่งนี้ ซึ่งออกแบบโดยดาเนียล บูแรน (Daniel Buren) ศิลปินชาวฝรั่งเศส เสาหินอ่อนลายทางสีขาวสลับดำจำนวน 260 ต้น ได้รับการออกแบบให้ไม่มียอดสูง เพื่อให้ประชาชนได้ยืนด้านบน กระโดด เล่น กล่าวสุนทรพจน์ หรือทำท่าทางเลียนแบบรูปปั้นในสมัยโบราณ แต่ที่เห็นในภาพนี้กลับไม่ใช่ชาวปารีสหรือนักท่องเที่ยวที่กำลังยืนอยู่บนเสา แต่เป็นนักแสดงนาฏกรรมสวมหน้ากากอันมีชื่อเสียงของไทย หรือที่รู้จักกันในนามโขนนั่นเอง ศิลปะแขนงนี้ได้รวมองค์ประกอบทางดนตรี การขับร้อง วรรณกรรมไว้ด้วยกัน และผสมผสานเข้ากับท่วงท่าร่ายรำรวมถึงเครื่องแต่งกายที่มีความระยิบระยับแพรวพราว สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจจากภาพนี้คือการผนวกวัฒนธรรมทั้งสองประเทศไว้ร่วมกันอย่างกลมกลืนผ่านศิลปะแบบดั้งเดิม ศิลปะร่วมสมัย และศิลปะคลาสสิก
ศิลปะไทยหลากหลายรูปแบบรอบพีระมิดลูฟวร์ (Louvre)
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดย Mina PRIEUR นักเรียนเกรด 9 ห้อง A)
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ประกอบด้วยพีระมิดห้าหลังซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นพีระมิดกลับหัว เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนนามเป้ย อวี หมิง (Ieoh Ming Pei) ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2532 ภาพนี้เป็นการนำเอาพีระมิดลูฟวร์สามหลังมาไว้ในภาพ มีศิลปินหลายท่านมาร่วมกัน “เล่น”กับสิ่งก่อสร้างที่ทำจากแก้วและโลหะชิ้นนี้ อาทิ JR ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวฝรั่งเศสซึ่งได้ใช้ภาพหลายร้อยภาพมาแปลงโฉมพีระมิดให้เกิดเป็นภาพลวงตา ในปีพ.ศ. 2562 ส่วนพีระมิดสองหลังที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้านี้เป็นภาพตัดต่อผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินชื่อดังชาวไทย ผู้ชื่นชอบรูปทรงสามเหลี่ยมเป็นพิเศษเพราะเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตและพระพุทธศาสนา ผลงานนี้ได้รับการออกแบบอย่างจงใจให้มีความหนักและมีองค์ประกอบทับซ้อนมากมายในภาพ เช่น ภาพร่างมนุษย์ในจินตนาการ สิ่งมีชีวิตรูปร่างแปลกประหลาด และภาพพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังมีการใช้สีทองแต่งแต้มซึ่งชวนให้นึกถึงแผ่นทองคำเปลวที่ใช้ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อเติมแง่มุมความศักดิ์สิทธิ์ลงไปในผลงาน
แฟชั่นโชว์ของดีไซเนอร์ชื่อดัง
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดยนาย Nicolas IORDACHE นักเรียนเกรด 12 ห้อง A)
หากมีคนถามว่า คุณจะคิดถึงอะไรเมื่อพูดถึงความเลิศหรูและแฟชั่นการแต่งกาย สิ่งแรกที่คงจะเข้ามาในความคิดของคุณคือแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ความเลิศหรูเป็นตัวแทนของความโดดเด่น งดงาม ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าและความสุนทรีย์ ความหรูหราแบบฝรั่งเศสคือการรวมความสง่างามและความเป็นเลิศเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และแต่งแต้มด้วยความเป็นเอกลักษณ์ แน่นอนว่าอิทธิพลของแฟชั่นชั้นสูงของฝรั่งเศสได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากในภาพ โดยเริ่มจากทางซ้ายมือ เราสามารถชื่นชมผลงานออกแบบชุดราตรีสีส้มของปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) ซึ่งทำขึ้นในปีพ.ศ. 2512 เพื่อเป็นฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ) งานปักบริเวณช่วงอกและแขนของชุดนี้ ซึ่งสร้างสรรค์โดยฟรองซัวส์ เลอซาฌ (François Lesage) ได้ส่งให้ชุดดูสวยแปลกตาและมีสีสัน ทั้งยังประดับด้วยเลื่อมและมุกอันระยิบระยับ ถ้าดูจากระยะไกลเราจะเห็นเป็นเหมือนกระจกสีซึ่งประกอบขึ้นจากแก้วชิ้นเล็กๆ หลากสีที่ได้รับการจัดเรียงให้เป็นภาพประดับ นักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงชาวฝรั่งเศสได้ดูแลตัดเย็บฉลองพระองค์เป็นเวลานานถึง 22 ปี นอกจากนี้ ในภาพนี้ยังมีผลงานทรงออกแบบในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชนัดดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วย ผลงานของพระองค์ท่านได้สานต่อสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสในสาขาแฟชั่นและการออกแบบได้อย่างยอดเยี่ยม
สถานกงสุลฝรั่งเศส พ.ศ. 2437
(เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนโดย Erika BOSREDON นักเรียนเกรด 10 ห้อง B)
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสนับเป็นสถานทูตแห่งแรกๆ ที่เข้ามาตั้งในประเทศไทย โดยตั้งขึ้นหลังสถานทูตโปรตุเกส เดิมทีในปีพ.ศ. 2400 ได้รับการจัดตั้งเป็นสถานกงสุลก่อน ภายหลังจากที่มีการลงนามในสนธิสัญญาเจริญสัมพันธไมตรีและการค้าระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานที่ดินแบ่งสรรแปลงหนึ่งเพื่อให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานคณะทูตฝรั่งเศส ต่อมาในปีพ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานที่ดินพร้อมทำเนียบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นตัวอาคารที่ปัจจุบันใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตก็ได้รับการตกแต่งและต่อเติมในช่วงปีพ.ศ. 2418-2437 เพื่อปรับเปลี่ยนตัวอาคารหลังเล็กเรียบง่ายในสถาปัตยกรรมแบบมิชชันนารีให้เป็นอาคารที่โอ่อ่าขึ้นในสไตล์โคโลเนียล จากนั้นก็มีการต่อเติมครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การขยับขยายนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศสยามมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ กับประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นสถานกงสุลก็ได้รับการยกให้เป็นทำเนียบอัครราชทูตในปีพ.ศ. 2436 บริเวณระเบียงและชานถูกต่อเติมขึ้นมาภายหลังในรูปแบบการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบนีโอปัลลาดีโอและรายละเอียดในแบบสถาปัตยกรรมวิคตอเรียนหรือที่เรียกว่าลวดลาย “ขนมปังขิง” เข้าด้วยกัน ภาพพิมพ์ที่อยู่บนประตูทางเข้าทำเนียบเอกอัครราชทูตนี้จัดทำขึ้นมาจากภาพถ่ายในปีพ.ศ. 2437 โดยนายลูเซียง ฟูร์เนอโร (Lucien Fournereau) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลิลลูสตราซิอง (L’Illustration) เมื่อปีพ.ศ. 2441 สถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้มีความแตกต่างแต่ตั้งเคียงคู่กันได้อย่างลงตัวกับอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตที่มีลักษณะร่วมสมัยซึ่งถูกสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2558 ทำเนียบเอกอัครราชทูตเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนกันยายนของทุกปีเนื่องในวันมรดกยุโรป
มองยุโรปผ่านมรดกสถาปัตยกรรม
นอกเหนือจากธงของสหภาพยุโรปที่มีพื้นหลังสีฟ้าพร้อมดาวสีทอง 12 ดวงแล้ว เราจะแสดงความเป็นสหภาพยุโรปในภาพภาพหนึ่งได้อย่างไรบ้าง สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเลือกจะนำเสนอในภาพนี้ก็คือความหลากหลายทว่ามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรปผ่านมรดกทางสถาปัตยกรรมอันรุ่มรวย มรดกทางสถาปัตยกรรมนี้คงอยู่มายาวนานข้ามศตวรรษและได้รับการนำเสนอในมุมมองใหม่อย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานร่วมสมัยมากมายซึ่งแสดงออกถึงภูมิทัศน์เมืองได้เป็นอย่างดี ภาพนี้ได้รวบรวมสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงหรือไม่ก็เป็นสัญลักษณ์ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเอาไว้ พร้อมทั้งสอดแทรกสถานที่สำคัญของประเทศไทยลงไปด้วย เราขอเชิญชวนให้ทุกท่านไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านี้เมื่อได้เดินทางไปเยือนทวีปยุโรป ทุกๆ 6 เดือนจะมีการหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกรับตำแหน่งประธานสหภาพยุโรป โดยในปีพ.ศ. 2565 นี้ ประเทศฝรั่งเศสจะทำหน้าที่ดังกล่าวและต่อด้วยสาธารณรัฐเช็ก ในภาพนี้มีอาคารที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ รวมอยู่ด้วย คุณหาเจอหรือไม่
โครงการเฟรนช์เทค (French Tech)
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์และนักอุตสาหกรรมผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นบุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพนี้ เราจะเริ่มกล่าวถึงโดยการให้เกียรติสุภาพสตรีก่อน มารี กูรี (Marie Curie) เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้งจากงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าร่วมกับปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) ผู้เป็นสามี ในสาขาฟิสิกส์และสาขาเคมี ต่อมาคือบุคคลที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน นั่นก็คือ ฟรองซวส บาร์เร-ซินูสซี (Françoise Barré-Sinoussi) และลุค มงตาญนิเยร์ (Luc Montagnier) นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองเป็นผู้ค้นพบเรโทรไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ขึ้นเป็นครั้งแรก และสิ่งที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือบทบาทสำคัญของปาสเตอร์ (Pasteur) ในการเป็นผู้คิดค้นวัคซีน ส่วนพี่น้องตระกูลลูมิแยร์ (Lumière) ผู้เป็นอัจฉริยะนักประดิษฐ์ ก็มีบทบาทโดดเด่นในประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพและวงการภาพยนตร์ ชื่อของพวกเขาเหล่านี้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลสำคัญที่สร้างชื่อให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศผู้บุกเบิกในเทคโนโลยีหลายสาขา ตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงจนถึงเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติยุโรปอย่างแอร์บัส (Airbus) และอาริอาน (Ariane) เป็นผู้นำในด้านนี้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงเทคโนโลยีการเกษตร การขนส่ง พลังงานหมุนเวียน หรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Cité des Sciences et de l’Industrie) ณ กรุงปารีส และโรงภาพยนตร์โดมกระจกทรงกลม (la Géode) ที่เห็นในภาพนี้ได้สะท้อนเรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมให้เป็นที่ประจักษ์ ความสำเร็จเหล่านี้เองที่สร้างให้เกิดระบบนิเวศของธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพในปัจจุบันซึ่งเป็นที่รู้จักภายใต้เครื่องหมายรับรองเฟรนช์เทค (French Tech)
ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้ดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในหลายมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณรู้จักดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2) หนึ่งในตัวอย่างของความร่วมมือดังกล่าวหรือไม่ ปีพ.ศ 2566 ที่จะถึงนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส เตรียมตัวพบกับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นได้เร็วๆ นี้