ฝรั่งเศสผลักดันการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) และแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ในประเทศไทย [fr]

วันที่ 18-24 พฤศจิกายน 2564 เป็นสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก (World Antimicrobial Awareness Week) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และเพื่อส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการป้องกันการอุบัติและการระบาดของเชื้อดื้อยา

JPEG

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับความถี่ที่เพิ่มขึ้นของโรคระบาดต่างๆ อาทิ โรคอีโบลา (Ebola) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) และโรคอื่นๆ ยังไม่นับรวมโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังระบาดในปัจจุบัน ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ความสามารถในการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย เป็นที่รับรู้เพิ่มมากขึ้นในฐานะความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุขโลก และประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับทุกทวีปในปัจจุบัน ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในประเด็นสาธารณสุขโลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกและอาจกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2593

วิธีที่ดีที่สุดที่แต่ละประเทศจะสามารถใช้รับมือกับภัยคุกคามนี้คือการป้องกัน ปัจจุบันรัฐบาลของหลายๆ ประเทศมองแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health เป็นแนวทางเชิงรุกแบบบูรณาการที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างตรงจุดเพื่อควบคุมป้องกันโรคระบาดไม่ให้แพร่กระจาย แนวคิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน หลายระดับ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังยอมรับว่าสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญและไม่อาจแยกออกจากกันได้ การพยายามร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันรักษาสุขภาพของทุกคนในสังคม โดยสามารถเรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด-19

ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีภายใต้ชื่อ Tripartite Plus One Health ซึ่งประกอบด้วยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health: OIE) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ฝรั่งเศสได้ดำเนินการผลักดันเพื่อเอาชนะภัยคุกคามระดับโลกนี้เพื่อสุขภาพและการพัฒนา

ภายใต้การดำเนินการดังกล่าว ฝรั่งเศสได้ร่วมกับไทยจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สองประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันได้ในการดำเนินแนวคิดดังกล่าวในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศสยังได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ One Health in Practice in Southeast Asia ที่มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา ประเทศฝรั่งเศส (Centre de coopération internationale en recherche agronomique pour le développement: CIRAD) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศฝรั่งเศส (Institut de recherche pour le développement: IRD) เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อสร้างการประสานงานและสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการริเริ่มภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับโรคสัตว์สู่คน (Zoonoses) และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม นับเป็นก้าวแรกในการสร้างชุมชนการวิจัยเพื่อดำเนินการภายใต้โครงการ PREZODE ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้แถลงเปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2564 ในระหว่างการประชุม One Planet Summit ที่ประเทศฝรั่งเศส

ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยฝรั่งเศสและภาคี Tripartite Plus One Health ในการชะลอการแพร่กระจายของปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพได้ โดยการส่งต่อข้อความและใช้แฮชแท็กด้านล่างนี้

#AntimicrobialResistance #AMR #WAAW2021 #SpreadAwareness # StopResistance

แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 12/07/2022

ด้านบนของหน้า